ภาษาบาลีกับอักษรโรมัน
อักษรโรมัน (Roman alphabet) ที่ใช้เขียนภาษาละติน เป็นอักษรที่ชาวโรมันใช้เขียนภาษาละตินตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล อักษรโรมันที่ใช้เขียนภาษาละตินได้วิวัฒนาการมาจากอักษร อีทรัสกัน (Etruscan script) และอักษรกรีก (มีใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งมีรากฐานมาจากอักษรฟีนิเซียน (มีใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสตกาล) อักษรโรมันจึงนับว่าเป็นอักษรเก่าแก่และเป็นสากล ด้วยเหตุที่อักษรนี้ใช้ในระบบการเขียนแทนเสียงพูดอย่างกว้างขวางที่สุดในโลกปัจจุบัน
นอกจากนี้อักษรโรมันยังถูกนำมาปรับใช้ในการเขียนภาษาต่าง ๆ ที่แยกออกมาจากภาษาละตินอีกด้วย คือ ภาษากลุ่มโรมานซ์ ซึ่งรวมภาษาฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส อิตาเลียน และยังขยายออกไปใช้กับภาษากลุ่มเยอรมันนิก ซึ่งรวมภาษาเยอรมัน อังกฤษ สวีเดน กลุ่มเคลติก และกลุ่มสลาวิกบางภาษา ในสมัยการแสวงหาอาณานิคมและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ อักษรโรมันก็ถูกนำมาใช้เขียนภาษาพื้นเมืองในอเมริกา ภาษาพื้นเมืองในออสเตรเลีย และภาษาเอเชียตะวันออก เช่น ภาษามาเลย์ ภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย ภาษาเวียดนาม เป็นต้น เพื่อให้สามารถเขียนและอ่านภาษานั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ในภาษาจีน และภาษาอื่น ๆ อีกมากมาย
จะเห็นได้ว่าเสียงพูดในภาษากับตัวอักษร (alphabet) ในระบบการเขียน (script) เป็นคนละเรื่องกันแต่เกี่ยวข้องกัน ในระบบการเขียนส่วนใหญ่เราใช้อักษรแทนเสียงพูด
การที่บาลีไม่มีระบบการเขียนของตนเอง การเผยแผ่พระไตรปิฎกบาลีจะใช้อักษรในระบบการเขียนของภาษาต่าง ๆ บันทึกเนื้อหาสาระหรือข้อความที่เป็นบาลี รวมทั้งคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีด้วย เราจึงมีพระพุทธพจน์หรือคำทรงสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลี ซึ่งบันทึกด้วยอักษรในระบบการเขียนของภาษาต่าง ๆ เช่น อักษรธรรมล้านนาในภาษาล้านนา อักษรไทยในภาษาไทย อักษรมอญในภาษาพม่า อักษรลาวในภาษาลาว อักษรเขมรในภาษาเขมร ด้วยเหตุนี้เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าไปในยุโรปก็ได้ใช้อักษรโรมันบันทึกบาลีด้วย
อักษรโรมันมีความเป็นสากล เพราะเป็นอักษรที่ชาวโลกรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เห็นได้จากเมื่อมีการพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีเป็นอักษรสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้เทียบอักษรสยามกับอักษรโรมัน ด้วย เพราะในสมัยนั้นได้มีการเขียนบาลีเป็นอักษรโรมันแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น