โครงการ
โครงการเรียนรู้เชิงวิชาการจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย ณ
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นางสาวพรสุดา กาสนิท
คบ. ภาษาไทย หมู่ ๓
รหัส ๕๓๓๔๑๐๐๑๐๓๒๑
มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม
คำนำ
ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษมาจนถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีท้องถิ่นอีสาน ให้ดำรงหมู่คู่ชาวอีสานต่อไป เราจึงได้จัดทำโครงการเรียนรู้เชิงวิชาการจากหน่วยงานภายนอกมหาลัย ณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานขึ้น การศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมอีสาน เริ่มตั้งแต่การดำรงชีวิตของชาวอีสาน ประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ รวมไปถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย ตลอดจนอุปกรณ์ในการทำมาหากินของชาวอีสาน เราได้เก็บรวบรวมรายละเอียดบันทึกไว้ในเล่มโครงการเพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาประเพณีท้องถิ่นต่อไป
โครงการเรียนรู้เชิงวิชาการจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย สำเร็จลุล่วงได้ก็ด้วยความร่วมมือจากสมาชิกทุกคนในกลุ่ม การจัดทำโครงการครั้งนี้คณะผู้จัดทำขอขอบพระคุณ อาจารย์อัจฉริยะ วะทา ที่กรุณาให้ข้อเสนอแนะในการทำรายงานฉบับนี้ และผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จนทำให้รายงานฉบับนี้เสร็จอย่างสมบูรณ์และขอขอบพระคุณ คุณชวนากร จันนาเวช ที่กรุณาให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอีสาน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการครั้งนี้ ข้อมูลเหล่านี้ล้วนสำคัญและเป็นประโยชน์ แก่ผู้สนใจศึกษาหาความรู้ เรื่อง ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ตลอดจนแนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานให้คงอยู่คู่อีสานต่อไป
คณะผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการเรียนรู้เชิงวิชาการจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย ณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาไม่มากก็น้อย
คณะผู้จัดทำ
สารบัญ
เรื่อง หน้า
รายละเอียดโครงการ 1 - 2
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
มหาสารคาม 3 – 4
ความรู้ที่ได้จากการไปทัศนศึกษานอกสถานที่ 5
ประวัติเครื่องปั้นดินเผาของไทย 5 - 7
เอกสารโบราณ 8 – 9
จิตรกรรมและศาสนา 10 – 12
เรือนไทยอีสาน 13 – 14
เอกสารอ้างอิง 15
ชื่อโครงการ: โครงการเรียนรู้เชิงวิชาการจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย ณ
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หลักการและเหตุผล
แหล่งการเรียนรู้ภายนอกมหาวิทยาลัย ณ
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นแหล่งรวบรวมและถ่ายทอดประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต
รวมถึงศิลปวัฒนธรรมชาวอีสานที่เยาวชนรุ่นใหม่สมควรที่จะได้รับการศึกษา เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมอีสานให้อยู่คู่กับคนรุ่นหลังต่อไป
วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
1.
เพื่อศึกษาพัฒนาการในด้านต่างๆของชาวอีสาน
2.
เพื่อปลูกฝังให้นักศึกษามีความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน
3.
เพื่อให้นักศึกษาได้แสวงหาความรู้ภายนอกมหาวิทยาลัย
4.
เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานต่อไป
วิธีการดำเนินงาน
วันที่
|
วิธีการดำเนินการ
|
21 สิงหาคม 2555
|
ประชุมครั้งที่ 1
ช่างแผนการปฎิบัติงาน ,ร่างโครงการและแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงาน
|
24 สิงหาคม 2555
|
ประชุมครั้งที่ 2
เตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปทัศนศึกษา
|
25 สิงหาคม 2555
|
ไปศึกษาดูงาน ณ.สถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน(มมส.)
|
26 สิงหาคม 2555
|
รวบรวมข้อมูล
ร่วมกันสรุปและเขียนรายงานโครงการและเตรียมนำเสนอ
|
4 สิงหาคม
2555
|
นำเสนอหน้าชั้นเรียน
|
ระยะเวลาการดำเนินโครงการ
ระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ถึง วันที่ 4 กันยายน 2555
งบประมาณโครงการ
1.ค่าเอกสาร 100 บาท
2.อุปกรณ์จัดทำรูปเล่ม 200 บาท
3.ค่าอาหาร 300 บาท
รวม 600
บาท
ทรัพยากรที่ต้องใช้
1.
กล้องถ่ายรูป
2.
อุปกรณ์บันทึกเสียง
3.
คอมพิวเตอร์
4.
สมุดบันทึก
5.
อุปกรณ์การเขียน
ที่ปรึกษาโครงการ
อาจารย์ อัจฉริยะ วะทา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.
สามารถนำความรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมอีสานไปเผยแพร่และสืบสานได้
2.
นักศึกษามีสำนึกภูมิใจในท้องถิ่นอีสาน
3.
นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ในการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ประวัติการก่อตั้งสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
อีสาน ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรม
ที่สืบทอดมาเป็นเวลานานจาก หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น การขุดค้นพบ
ศิลปวัฒนธรรมบ้านเชียง ซึ่งนับว่าเป็นอารยธรรม
ใหม่ของโลกนั้น ยืนยันได้ว่าอีสาน เคยเป็นแหล่งอารยธรรม
อันเก่าแก่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อศิลปะประเพณีและภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีความสำคัญยิ่ง ด้วยการเล็งเห็นคุณค่าความสำคัญ
ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ของชาวอีสานนี้ " สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
" จึงได้กำเนิดขึ้นสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานเป็น หน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีฐานะ
เทียบเท่าคณะของมหาวิทยาลัย
"ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ " เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓โดย
เริ่มจากกลุ่มผู้สนใจ คณาจารย์ นิสิต ชาวบ้านที่มีใจรักในงานศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
ใช้เวลาว่างในวันหยุดออกสำรวจศึกษาถ่ายภาพและซักถาม สัมภาษณ์ สังเกต ดูของจริง
เก็บตัวอย่างทำการรวบรวมข้อมูล นำมาจัดหมวดหมู่ วิเคราะห์วิจัย จัดนิทรรศการ
เพื่อการอนุรักษ์ เผยแพร่และส่งเสริมให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันโดยเฉพาะด้านการศึกษาวิจัยศิลปะพื้นบ้าน
ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถนำผลวิจัยไปใช้ ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพและยกฐานะทางเศรษฐกิจ
ของประชาชนในท้องถิ่นให้สูงขึ้นการดำเนินงานเป็นไปด้วยดีเพราะความร่วมมือร่วมใจของคณาจารย์
นิสิต เจ้าหน้าที่ และที่สำคัญคือ
ความร่วมมือที่ดีและจริงใจของชาวบ้านในท้องถิ่นอีสานศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ก่อตั้งขึ้น ณ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ
วิทยาเขตมหาสารคาม (ในสมัยนั้น )
" ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
"ได้พัฒนาก้าวหน้าเป็นลำดับการขยายการดำเนินงานเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้ผู้ที่ี่สนใจนิสิตนักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๒๙ทบวงมหาวิทยาลัยประกาศให้"ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"มีชื่อเป็นทางการว่า
"สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน"โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๙๘หน้า ๙ -๑๐ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๙ ในปี
พ.ศ.๒๕๓๕สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน ๔๒ ล้านบาท
สร้างอาคารของสถาบันฯ เป็นอาคารทรงไทยอีสานประยุกต์ ๔
ชั้นซึ่งมีเอกลักษณ์แสดงถึงความงามทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอีสาน
เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางศิลปะและวัฒนธรรมอีสานการวิจัยและเผยแพร่ตามนโยบายการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย
ในปี
พ.ศ.2547 มหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.) สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์
ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ โดยสภามหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นชอบ
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2547 และ
สกอ. รับทราบการให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2549
ในปี พ.ศ.2548
ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต(ปร.ด.) สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์
เป็นหลักสูตรใหม่โดยสภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2548 และ สกอ. รับทราบการให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่
10 เมษายน 2549
โดยได้กำหนดชุดครุยปริญญา และ สีประจำหลักสูตร คือสี เทาเงิน
ความรู้ที่ได้จากการไปทัศนศึกษานอกสถานที่
ณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
จากการไปทัศนศึกษาที่สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานในครั้งนี้
คุณชวนากร จันนาเวช เป็นวิทยากรได้ให้ความรู้ไว้ดังนี้
ประวัติเครื่องปั้นดินเผาของไทย
เครื่องปั้นดินเผา
มีความผูกพันกับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์
เพราะมนุษย์ได้ใช้เป็นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิต ประจำวัน บรรจุอาหารและสิ่งของ
ฉะนั้นจึงได้มีการประดิษฐ์คิดค้น และปรับปรุงเทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
จากการสำรวจแหล่งโบราณ คดีในประเทศไทย พบว่านับตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 เป็นต้นมา
ในพื้นที่ของราชอาณาจักรไทยได้ปรากฏแหล่งเตาเผาตั้งกระจัดกระจายอยู่มากมายหลายแห่ง
รวมทั้งได้มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวน
มากมายหลายชนิดทั้งที่ผลิตจากแหล่งเตาเผาในราชอาณาจักรไทยและ
ที่ผลิตจากแหล่งเตาในต่างประเทศ ซึ่งได้ถูกนำมาเพื่อใช้สอยและจำหน่าย
ให้กับกลุ่มชนบางกลุ่ม เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ถูกผลิตและตกแต่งด้วย
เทคนิคและลวดลายที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถของช่างใน
แต่ละท้องถิ่นหรือตามสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของแต่ละชุมชน ซึ่ง
บางแห่งอาจมีแหล่งดินที่อุดมสมบูรณ์เอื้ออำนวยต่อการผลิตเครื่องปั้น ดินเผา
นอกจากนี้ จากการที่ชุมชนบางแห่งมีพื้นที่ติดต่อกันหรือมีการ ทำการค้าร่วมกัน
จึงทำให้อิทธิพลต่าง ๆ สามารถส่งผ่านไปยังอีกชุมชน
หนึ่งได้อย่างง่ายดายก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปะและเทคโนโลยี ซึ่งกันและกัน
ต่อมาจึงมีพัฒนาการของตนเอง ที่แตกต่างออกไปชุมชนบางแห่งก็อาจ
มีพัฒนาการทางการผลิตที่เป็นของตนเอง โดยมิได้รับอิทธิพลจากภายนอก
ซึ่งในระยะแรกจะผลิตขึ้น เพื่อใช้ในกลุ่มชนของตนเองก่อนต่อมาจึงสามารถ
พัฒนาจนกลายเป็น อุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ และมีการส่งไปจำหน่ายเป็นสินค้า
ออกให้แก่ชุมชนใกล้เคียง
เครื่องถ้วยในประเทศไทย
1. เครื่องถ้วยที่ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศไทย
- เครื่องปั้นดินเผาบ้านเก่า
- เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง
- เครื่องปั้นดินเผาบ้านปราสาท
- เครื่องปั้นดินเผาสมัยสมัยทวารวดี
- เครื่องปั้นดินเผาศรีวิชัย
- เครื่องปั้นดินเผาหริภุญไชย
- เครื่องถ้วยเขมรหรือขอม
- เครื่องปั้นดินเผาบ้านบางปูน
- เครื่องถ้วยสุโขทัย
- เครื่องถ้วยล้านนา
- เครื่องปั้นดินเผาวัดพระปรางค์
- เครื่องปั้นดินเผาบ้านชีปะขาวหาย
- เครื่องปั้นดินเผาลุ่มแม่น้ำสงคราม
2. เครื่องถ้วยที่ผลิตจากแหล่งเตาในต่างประเทศ
- เครื่องถ้วยจีน
- เครื่องถ้วยญี่ปุ่น
- เครื่องถ้วยเวียดนาม
- เครื่องถ้วยพม่า
- เครื่องถ้วยเบญจรงค์
- เครื่องถ้วยลายน้ำทอง
- ชุดถ้วยอักษรพระนาม จ ป ร
- ชุดถ้วยจักรี
- เครื่องถ้วยยุโรป
เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง (อายุประมาณ 5,600 - 1,800 ปี)
เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง
เป็นเครื่องปั้นดินเผาของไทยสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ที่ขุดพบได้ที่หมู่บ้านบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
แบ่งออกเป็น 3 สมัย คือ
- สมัยต้น
(อายุประมาณ 5,600 - 3,000 ปี)
- สมัยกลาง
(อายุประมาณ 3,000 - 2,300 ปี)
- สมัยปลาย
(อายุประมาณ 2,300 - 1,800 ปี)
เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงสมัยต้น เป็นภาชนะดินเผาสีดำ
ตกแต่งด้วยลายขูดขีดและลายเชือกทาบ รูปทรงมักเป็น หม้อก้นกลม ปากผายกว้างเชิงสูง
มีทั้งชนิดปลาย สอบเข้าและผายออก
เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงสมัยกลาง ภาชนะส่วนใหญ่มีเนื้อดินสีขาวนวล ไหล่ลู่
ลำตัวกลมและหักเป็นสัน ก้นภาชนะ มีทั้งกลมและแหลม มักไม่มีการตกแต่งลวดลาย
แต่บางชิ้นมีการตกแต่งด้วยลายขูดขีด และเขียนลวดลายสีแดงที่บริเวณไหล่ของภาชนะ
เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงสมัยปลาย
รูปทรงของภาชนะมีทั้งชนิดก้นกลมและชนิด
มีเชิงสูง ปลายผาย ขอบปากมีสัน มีการตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายสีแดง
สีที่ใช้เขียนเรียกว่า "สีดินเทศ" ลวดลาย ที่เขียนส่วนใหญ่เป็น
ลายเรขาคณิต ลายสี่เหลี่ยม ลายวงกลม ลายก้านขด ลายก้นหอย
เอกสารโบราณ
เอกสารโบราณ หมายถึง
หลักฐานที่เป็นภาษาและตัวหนังสือแต่เก่าก่อน ซึ่งสำเร็จด้วยหัตถกรรม
เป็นเอกสารที่บันทึกสรรพวิชาการของบรรพชนไทยด้านประวัติศาสตร์ของชาติ
อารยธรรมของสังคมกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงวรรณกรรม วัฒนธรรม จริยธรรม
และคุณธรรม ซึ่งเป็นแบบอย่างของอดีตอันเป็นพื้นฐานของสังคมในปัจจุบัน
เอกสารโบราณจึงเป็นคำรวมที่ใช้เรียกหนังสือต้นฉบับตัวเขียน ตัวชุบ ตัวจาร
และตัวจารึก
เอกสารโบราณเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สืบทอดมาถึงอนุชนในยุคปัจจุบัน
เป็นผลงานอันเกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชน ที่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของหนังสือตัวเขียนและจารึก
เอกสารโบราณเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปทุกภูมิภาคของประเทศไทย
เป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้มากมาย เป็นเอกสารวิชาการอันสำคัญยิ่ง
ใช้เป็นข้อมูลศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ เป็นต้นว่า รูปแบบอักษร ภาษา ที่ประจำอยู่ตามท้องถิ่นทั่วประเทศ
รวมถึงใช้เป็นหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศาสนา ศิลปะ และอักษรศาสตร์ ฯลฯ
โครงสร้าง หรือ รูปแบบทางกายภาพของเอกสารโบราณ
ประกอบด้วยวัตถุรองรับตัวหนังสือและเส้นอักษร ซึ่งประกอบด้วย ตัวอักษร
และภาษาแต่เก่าก่อน อันสำเร็จด้วยหัตถกรรม จำแนกออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ๓ ประเภท
คือ จารึก ใบลานซึ่งสำเร็จรูปเป็นคัมภีร์ใบลาน และกระดาษในรูปลักษณ์หนังสือสมุดไทย
จารึก เป็นเอกสารโบราณประเภทหนึ่งที่บันทึกลายลักษณ์อักษรลงบนวัตถุชนิดต่างๆ
ที่มีความแข็งแรง คงทนถาวร เก็บรักษาไว้ได้นาน มีรูปทรงต่างๆ เป็นแท่ง
เป็นแผ่นบางๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรม และสถาปัตยกรรม เช่น ฐานพระพุทธรูป
และเสาขอบประตูปราสาท เป็นต้น จารึกเหล่านี้จำกัดให้เรียกชื่อตามชนิดของวัตถุ เช่น
แผ่นศิลา เรียกว่า ศิลาจารึก แผ่นทอง เรียกว่า จารึกแผ่นทอง และบางทีก็เรียกชื่อตามรูปสัณฐานของจารึก
เช่น จารึกฐานพระพุทธรูปนาคปรก เป็นต้น
ใบลาน เป็นเอกสารโบราณที่จดจารลายลักษณ์อักษรไว้บนใบลานซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติได้มาจาก
ใบของต้นลาน จึงเรียกโดยทั่วไปว่า หนังสือใบลาน
แต่เนื่องจากคนไทยโบราณนิยมจารเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาลงในใบลาน
จึงนิยมเรียกหนังสือใบลานว่า คัมภีร์ใบลาน
ใบลานใช้จารตัวอักษรได้ ๒ ด้าน ด้วยเหล็กแหลม
เรียกว่า เหล็กจาร ขีดลงไปให้เป็นร่องรูปอักษรบนใบลาน
แล้วใช้เขม่าไฟผสมน้ำมันยางลบให้เห็นตัวอักษรเด่นชัด
เมื่อจะทำใบลานให้เป็นเล่มหนังสือ ต้องร้อยเชือกเรียกว่า สายสนอง
เข้าไปในรูที่เจาะไว้ทางด้านซ้าย เรียกว่าร้อยหู เพื่อรวมเป็นผูก หลายๆ
ผูกรวมเป็นคัมภีร์หนึ่ง แต่ละคัมภีร์ จะมีไม้ประกับหัวท้ายกำกับไว้
แล้วมัดรวมกันโดยมีผ้าห่อรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง นอกผ้าห่อคัมภีร์จะเสียบฉลาก
หรือป้ายบอกชื่อคัมภีร์ไว้ด้วยกับยังนิยมตกแต่งขอบคัมภีร์ ใบปกหน้า ใบปกหลัง
และไม้ประกับด้วยสีและลวดลายต่างๆ เช่น ปิดทองทึบ ปิดทองล่องชาด และลายรดน้ำ
โดยเฉพาะไม้ประกับบางครั้งมีการตกแต่งเป็นพิเศษ เช่น ประดับมุก คร่ำเงิน คร่ำทอง
เป็นต้น ผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ก็นิยมใช้ผ้าชั้นดี เช่น ผ้าไหม
และแม้ฉลากคัมภีร์ก็นิยมประดิษฐ์ให้งดงาม ด้วยวัตถุชนิดต่างๆ เช่น ไม้ หรือ งา
จำหลักนูนต่ำเป็นลายดอกไม้และลายอื่นๆก็มี
กระดาษ เอกสารโบราณประเภทกระดาษ
ซึ่งเขียนหรือชุบลายลักษณ์อักษรไว้บนกระดาษที่เป็นแผ่นหรือเป็นเล่ม
และหรือบนวัตถุอื่น ซึ่งสำเร็จด้วยวิธีเขียน หรือชุบนั้น ถ้าเป็นกระดาษแผ่นบาง
ยาวๆ พับกลับไปกลับมา เป็นเล่มสมุด เรียกว่า หนังสือสมุดไทย
หนังสือสมุดไทย มี ๒
สี คือ สีดำ และสีขาว เรียกว่า สมุดไทยดำ และสมุดไทยขาว ในเขตจังหวัดภาคใต้
นิยมเรียกว่า บุดดำ บุดขาว สำหรับภาคกลางนิยมทำจากเปลือกต้นข่อย
ทำให้มีชื่อเรียกตามวัสดุที่ใช้ว่า สมุดข่อย
ส่วนในจังหวัดภาคเหนือนิยมใช้เปลือกต้นสาทำกระดาษ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมุดกระดาษสา
และเรียกกระดาษ เพลา ซึ่งเป็นกระดาษแผ่นบางๆ ว่า กระดาษน้ำโท้ง
ถ้าซ้อนกระดาษเป็นปึกแล้วเย็บรวมกันด้านเดียว เรียกว่า ปั๊บสา
วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายอย่าง เช่น ดินสอขาว น้ำหมึกสีดำ
และน้ำหมึกสีเหลืองที่ได้จากส่วนผสมของรงกับหรดาล เป็นต้น
การเขียนหนังสือลงบนสมุดไทยเขียนได้ ๒ หน้าๆ
ละประมาณ ๓-๕ บรรทัด คนไทยโบราณนิยมเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัด
การเขียนอักษรบนเส้นบรรทัดเพิ่งจะมานิยมเขียนกันในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นี้เอง
เอกสารโบราณทั้ง ๓
ประเภทไม่เพียงแต่จะมีรูปลักษณะที่แปลก และแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น
องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ รูปอักษร ภาษา และเรื่องราว
ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณเหล่านั้น
จะเห็นได้ว่าเอกสารโบราณแต่ละชิ้นซึ่งพบในภูมิภาคต่างๆ สร้างขึ้นในยุคสมัยต่างกัน
รูปอักษร และภาษาที่ใช้ก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย คุณค่าของเอกสารโบราณจึงมีอยู่มากมายหลายสาขาวิชา
มีทั้งประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี ศาสนา ศิลปะ ขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎหมาย
เวชศาสตร์ โหราศาสตร์ เป็นต้น
จิตรกรรมและศาสนา
ศาสนาพุทธในประเทศไทย
เป็นโครงสร้างสำคัญของสังคม เพราะรูปแบบของศิลปวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ
รวมถึงงานจิตรกรรมของไทย อาศัยความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของพุทธศาสนา
เป็นหลักในการสร้างสรรค์ การสั่งสอนพุทธปรัชญา และธรรมะแก่ประชาชน
อาศัยสื่อกลางในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น
อาศัยพระสงฆ์เป็นผู้ถ่ายทอดในรูปของการแสดงธรรม อาศัยครูเป็นผู้ถ่ายทอดในโรงเรียน
และอาศัยบุคคลทั่วๆ ไปเล่าสืบต่อกันไปในรูปแบบของเรื่องราวตามลักษณะพื้นฐานของสังคมไทย
ซึ่งมีความเป็นอยู่ในลักษณะที่พึ่งพาอาศัยกัน มีการพบปะ และช่วยเหลือกันเป็นหมู่
เป็นคณะ วัดจะเป็นศูนย์รวมในการพบปะแทบทุกประเภท เพราะวัดในความรู้สึกของสังคมไทย
เป็นศูนย์กลางในด้านศาสนา งานประเพณีต่างๆ รวมทั้งการศึกษาเบื้องต้นของเด็กไทย
ดังนั้นจะเห็น ได้ว่า งานจิตรกรรม ซึ่งเป็นสื่อของการบันทึกเรื่องราวต่างๆ
ให้แก่สังคม แทนการสอนด้วยวาจา จะอยู่ที่วัดทั้งสิ้น
จิตรกรรม
หรือภาพเขียนฝาผนังที่อยู่ในโบสถ์และวิหาร มักจะแสดงเรื่องราวที่น่าสนใจต่างๆ
ซึ่งต้องการถ่ายทอดออกสู่สังคม นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานเป็นคณะอย่างมีระบบ
กล่าวคือ ในการสร้างโบสถ์วิหารของวัดใดวัดหนึ่ง ผู้ที่ทำงานประสานกัน
จะประกอบด้วยช่างฝีมือแขนงต่างๆ เช่น สถาปนิก ผู้ออกแบบโบสถ์ นายช่างตกแต่งภายในโบสถ์
ช่างปั้น และ ช่างเขียน เป็นต้น พระประธาน
นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของโบสถ์ ดังนั้น งานประติมากรรม
ซึ่งประกอบด้วยการปั้นและสร้างพระประธานในโบสถ์ จึงถือเป็นงานที่สำคัญที่สุด
การออกแบบ และปั้นฐานพระประธาน จะเป็นงานรองจากการสร้างพระประธาน
เพราะต้องออกแบบฐาน ซึ่งประดิษฐานองค์พระประธาน ตามลักษณะและขนาดของพระประธาน
ขนาดของโบสถ์และพระประธานต้องมีความสมดุลกัน
ช่างเขียนซึ่งทำงานจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์
จะต้องสร้างงานในลักษณะส่งเสริมองค์พระประธาน ส่วนมากพระประธานในโบสถ์
จะมีขนาดใหญ่มาก เพราะฉะนั้นช่างเขียนที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
จะต้องรู้จักประมาณตน จะต้องไม่แสดงความอวดเก่ง เพื่อแสดงความสำคัญเฉพาะงานของตน
การวางเค้าโครงเรื่องราวของภาพจิตรกรรมก็ดี การวางโครงสร้างของสี
และขนาดสัดส่วนของคน สัตว์ และสิ่งของต่างๆ ซึ่งประกอบเป็นเรื่องราวก็ดี ต้องวางเค้าโครงในลักษณะที่ส่งเสริมองค์พระประธาน
ให้มีลักษณะเด่น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ภาพเขียนฝาผนังในโบสถ์วิหารต่างๆ
ทำให้เราเกิดความรู้สึกสงบร่มเย็น ทั้งนี้เพราะมีการวางเค้าโครงของการใช้สี เส้น
รูปทรงต่างๆ ของภาพจิตรกรรมแวดล้อมพระประธานอย่างถูกต้อง
การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
เป็นงานที่ใช้เวลามาก งานบางแห่งใช้เวลาหลายสิบปี
ครูช่างซึ่งเป็นนายงานของการเขียนภาพ เป็นผู้วางโครงการของงานทั้งหมด
ในขณะเดียวกันก็มีช่างเขียนที่เป็นลูกมือช่วยอยู่เป็นจำนวนมาก
ครูช่างจะต้องสอนลูกศิษย์ เพื่อสืบทอดวิชาความรู้ให้สามารถทำงานแทนตนได้
จนกว่าจะแล้วเสร็จ ดังนั้น การสร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังแต่ละครั้ง
จึงเปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนศิลปะของตระกูลช่างต่างๆ โดยลูกศิษย์จะเริ่มต้น
ด้วยการคอยปรนนิบัติรับใช้ครู ครูจะใช้งานทุกประเภท และสอนเทคนิคต่างๆ
ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละสกุลช่าง ซึ่งแตกต่างกัน เช่น เทคนิคการบดสี ผสมสี
การเตรียมพื้น จนศิษย์มีความรู้ความสามารถ ศรัทธา และมีฝีมือช่างที่ใช้การได้
ต่อไปครูช่างจึงจะอนุญาตให้เริ่มเขียน เริ่มจับพู่กันได้
การสอนเป็นไปอย่างเป็นขั้นตอน จนศิษย์มีความรู้ความชำนาญ
จึงให้แสดงฝีมือในบางส่วนของภาพเขียนฝาผนังได้ การสืบทอดตระกูลช่างของไทยแต่โบราณ
ใช้กระบวนการนี้ทั้งสิ้น จึงเห็นได้ชัดว่า ช่างเขียนไทยโบราณ
ซึ่งเขียนภาพแบบประเพณี มีความเคารพนับถือครูของตนมาก
เพราะนอกจากศิษย์จะได้เรียนวิชาความรู้จากครูแล้ว
ยังต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และคุณธรรมจากครูอีกด้วย
ชื่อและเรื่องราวของช่างเขียนไทยในประวัติศาสตร์
เป็นสิ่งที่ค้นคว้าหาเรื่องราวได้ยาก เพราะในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ตามลักษณะไทยแบบประเพณีสมัยโบราณ ไม่นิยมที่จะแสดงความสำคัญของช่าง
ไม่มีการเขียนชื่อของผู้เขียน หรือแสดงหลักฐานใดๆ ไว้ในภาพเขียน ที่เป็นเช่นนี้
เพราะการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย เป็นการทำงานทางช่าง เพื่อเรื่องราวทางศาสนา
ถือเสมือนเป็นการอุทิศตน โดยไม่ต้องการผลตอบแทนใดๆ ถือว่า ผลงานช่าง
และเรื่องราวที่บันทึกไว้ในภาพจิตรกรรม เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าตัวช่างเขียน
ซึ่งแตกต่างไปจากช่างเขียนยุโรป ซึ่งจะต้องแสดงชื่อผู้เขียนไว้ในภาพเขียนเสมอ
เรื่องราวของช่างไทยนั้น
จะรู้ได้ก็แต่เพียงการบอกเล่าต่อๆ กันมา พอจับความได้ว่า ช่างเขียนของไทยเรานั้น
อาศัยอยู่ในวัดเป็นส่วนใหญ่ บางท่านเป็นพระสงฆ์ ศึกษาความรู้ต่างๆ อยู่ในวัด
แต่ด้วยความชอบและศรัทธาในทางช่าง ก็ได้ฝีกฝนกับครูช่าง เรียนการช่าง
จนมีความรู้ดี
งานจิตรกรรมของไทยในสมัยโบราณนั้น
เป็นจิตรกรรมแบบประเพณี ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ของโบสถ์หรือวิหารแล้ว ยังมีการเขียนภาพจิตรกรรมกระดาษอีกลักษณะหนึ่ง
ซึ่งเป็นการเขียนภาพ ด้วยสีฝุ่นบนกระดาษสมุดไทย หรือสมุดข่อย
การเขียนภาพบนสมุดข่อย เป็นการเขียนภาพ เพื่อขยายความตามบันทึกในสมุดข่อย เช่น
ไตรภูมิพระร่วง หรือเรื่องราวทางช่างเอง เช่น ตำราการปลูกสร้างบ้านเรือน ตำรายา
ตำราการจับเส้น ตามแบบแพทย์แผนโบราณ เป็นต้น การเขียนภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อย
เท่าที่ยังค้นพบในปัจจุบัน มีทั้งฝีมือช่างพื้นบ้าน
ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ไปจนถึงช่างฝีมือ
ซึ่งแสดงรูปแบบเส้นและสีที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกระบวนการเขียนภาพจิตรกรรม
จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
ซึ่งในสมัยโบราณเขียนบนผนังโบสถ์หรือวิหารนั้น เป็นภาพจิตรกรรมในลักษณะ ๒ มิติ
ระบายสี และตัดเส้น ลักษณะของการใช้สีโดยส่วนรวมของจิตรกรรมฝาผนัง
เป็นไปตามยุคสมัย เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยสมัยอยุธยา จะใช้สีค่อนข้างน้อย
ส่วนใหญ่สีโดยส่วนรวมออกสีแดง ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์
จะใช้สีมากขึ้น เพราะมีสี ซึ่งได้รับมาจากต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป
ทำให้โครงสร้างของสีในภาพมีลักษณะสดใส และมีจำนวนสีที่ใช้มากขึ้น
และยังนิยมปิดทองคำเปลวในส่วนต่างๆ ของภาพ ให้แลดูแวววาว และสวยงาม
การแสดงออกทางอารมณ์ของเรื่องราวในภาพ
นอกจากจะแสดงด้วยสีสันต่างๆ ประกอบกันแล้ว
ยังสามารถแสดงออกด้วยท่าทางขององค์ประกอบในภาพ เช่น คน สัตว์
หรือลักษณะการวางองค์ประกอบของกลุ่มคนหรือสัตว์ เช่น กองทัพช้าง ม้า
หรือลักษณะของนางฟ้า เทวดา นางรำต่างๆ ลักษณะการแสดงท่าทางของคนหรือสัตว์
ช่วยทำให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกไปตามเรื่องราวได้ ช่างเขียนไทยมีความพยายามที่จะถ่ายทอดอารมณ์ของช่าง
และลีลาของภาพ ให้แสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์
การเขียนภาพจิตรกรรม
โดยใช้สีน้ำมันเขียนบนไม้ หรือผ้าใบเท่าที่ค้นพบหลักฐาน สมัยรัชกาลที่ ๖
พระสรลักษณ์ลิขิต (หลักฐานปี เกิดตายไม่แน่ชัด) เป็นผู้เขียน และในสมัยรัชกาลที่ ๗
พระยาอนุศาสน์จิตรกร (หลักฐานปีเกิดตายไม่แน่ชัด) เป็นผู้เขียน
เรือนไทยอีสาน
เรือนไทยอีสาน
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
คือ
ประเภทกึ่งถาวรและประเภทถาวร
ดังนี้
1.
เรือนประเภทกึ่งถาวรนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด”ตูบต่อเล้า” เป็นเรือนที่อิงเข้ากับตัวเล้าข้าว
ซึ่งมีอยู่เกือบทุกครัวเรือนมีลักษณะคล้ายเพิงหมาแหงนทั่วไปด้านสูงจะไปอาศัยโครงสร้างของเล้าข้าวเป็น
ตัวยึด ต่อหลังคาลาต่ำลงไปทางด้านข้างของเล้า แล้วใช้เสาไม้จริงตั้งรับเพียง 2-3 ต้น มุงหลังคาด้วยหญ้าหรือสังกะสี ยกพื้นเตี้ย ๆ กั้นฝาแบบชั่วคราว
อาศัยกันไปก่อนสักระยะหนึ่ง พอตั้งตัวได้ก็จะย้ายไปปลูกเรือนใหญ่ถาวรอยู่เอง
ตรงส่วนที่เป็น “ตูบต่อเล้า” นี้ก็ทิ้งให้เป็นที่นอนเล่นของพ่อแม่ต่อไป
เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งต่อดิน” เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกตัวออกจากเรือนใหญ่ทำนองเดียวกัน
“ตูบ ต่อเล้า” แต่จะดูเป็นสัดส่วนมากกว่า
ขนาดของพื้นที่ค่อนข้างน้อยกว้างไม่เกิน 2 เมตร ยาวไม่เกิน 5 เมตรนิยมทำ 2 ช่วงเสา คำว่า “ดั้งต่อดิน”
เป็นคำเรียกของชาวไทยอีสาน ที่หมายถึง
ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดินและใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่
วิธีสร้าง “ดั้งต่อดิน” มักใช้ผูกโครงสร้างเหมือนกับเรือนเครื่องผูกตัวเสาและเครื่องบนนิยมใช้ไม้จริงทุบเปลือก
หลังคามักมุงด้วยหลังคาทีกรองเป็นตับแล้วเรียกว่า “ไฟหญ้า”
หรือใช้แป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนใหญ่
ฝาเรือนมักใช้ฝาแถบตองโดยใช้ใบกุงหรือใบชาดามาประกบกับไม้ไผ่สานโปร่งเป็นตาราง
หรือทำเป็นฝาไม้ไผ่สับฟากสานลายขัดหรือลายสองทแยงตามแต่สะดวก
ส่วนพื้นนิยมใช้พื้นสับฟากหรือใช้แผ่นกระดานปูรอง
โดยใช่ไม้ไผ่ผ่าซีกมามัดขนาบกันแผ่นกระดารขยับเลื่อน
เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งตั้งคาน” ยังอยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูกมีความแตกต่างจากเรือน”ดั้งต่อดิน” ตรงที่เสาดั้งต้นกลางจะลงมาพักบนคานของด้านสกัดไม่ต่อลงไป
ถึงดิน ส่วนการใช้วัสดุมุงหลังคา ฝาและพื้นเรือนจะใช้เช่นเดียวกับเรือนประเภท “ดั้งต่อดิน”
2. ประเภทถาวร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น
“เรือนเครื่องสับ”
สังเกตได้จากการเลือกใช้วัสดุ
รูปแบบของการก่อสร้างประโยชน์ใช้สอยและความประณีตทางช่าง อาจจำแนกเรือนถาวรได้เป็น
3 ชนิดดังนี้
2.1 ชนิดเรือนเกย
มีลักษณะใต้ถุนสูง
หลังคาทรงจั่วเสาใช้ไม้กลม 8 เหลี่ยม หรือเสา 4 เหลี่ยม
ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เกย ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)
2.2 ชนิดเรือนแฝด
มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยมเช่นเดียวกัน
ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เรือนแฝด เกย ชานแดด เรือนไฟ ฮ้างแอ่งน้ำ
2.3 ชนิดเรือนโข่ง
มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยม
มีจั่วแฝดอยู่ชิดติดกัน ไม่นิยมมีเกย เรือนชนิดนี้ประกอบด้วย เรือนใหญ่ เรือนโข่ง
ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ
เอกสารอ้างอิง
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.[ ออนไลน์ ]. เข้าถึงได้จาก : http ://
202.28.32.117/msuact/index.php?setacadtoview=all:rinac. (วันที่ค้นข้อมูล : 2 กันยายน 2555).
Esanhouse. (2553) . สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม . [ ออนไลน์ ].
เข้าถึงได้จาก
: http :// esanhouse.forum-free.ca/t50-topic. (วันที่ค้นข้อมูล : 2 กันยายน 2555).
|
|